วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ไก่ประดู่หางดำ


ประวัติความเป็นมา ไก่ประดู่หางดำ เป็นไก่พื้นเมืองของไทยมาแต่โบราณ พัฒนามาจากไก่บ้านพันธุ์ กะตังอู หรือ ไก่อู มีมาพร้อมไก่เหลืองหางขาวและคนไทยโบราณ พบคนนำไก่มาชนกันในสมัยสุโขทัย จากชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา แพร่หลายมาในหมู่ขุนนาง เจ้าขุนมูลนาย และต่อมาได้พัฒนามาเป็นกีฬาพระราชา เช่น สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเอกาทศรถ พระเจ้าเสือ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นต้น
ไก่ประดู่หางดำ ที่นิยมเป็นพันธุ์ดั้งเดิม ต้องเป็นไก่สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ฉะเชิงเทรา มีนบุรี หนองจอก ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดไก่ประดู่หางดำชั้นดี
ไก่ประดู่หางดำโด่งดังครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถ (พระองค์ขาว) ได้ทรงนำไก่ประดู่หางดำ จากสุพรรณบุรีมาชนกับไก่ของข้าราชบริพาร ทรงชนะตลอด ทำให้ไก่ประดู่หางดำโด่งดังไม่น้อยไปกว่าเหลืองหางขาว บางตำราบอกว่า ไก่ประดู่หางดำ เป็นต้นตระกูลสายพันธุ์ไก่อื่นๆ อีกหลายสายพันธุ์ในประเทศไทย
ไก่ประดู่หางดำ เป็นไก่มีลักษณะงดงามมาก ชั้นเชิงการชนเป็นไก่เชิงบน 4 กระบวนท่า ขี่ กอด ทับ เท้าบ่า หรือบางทีมีมัดปีกด้วย
แหล่งกำเนิด ไก่พันธุ์ประดู่หางดำ มีถิ่นกำเนิดแถบภาคกลางของไทย เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา กรุงเทพฯ (มีนบุรี หนองจอก) สิงห์บุรี และอ่างทอง เป็นแหล่งกำเนินไก่ประดู่หางดำชั้นดี นอกจากนี้ยังมีแถบจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันนิยมเลี้ยงแพร่หลายไปทั่วประเทศไทย และต่างประเทศในแถบอาเซียน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน เป็นต้น ประเภท ไก่ประดู่หางดำ เป็นไก่ขนาดกลาง น้ำหนักตัวเพศผู้ประมาณ 3 กิโลกรัม ขึ้นไป เพศเมียหนัก 2 กิโลกรัม ขึ้นไป สีของเปลือกไข่ เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน ลักษณะลูกไก่ หัว หน้าอก ปีกไชนอกสีขาวนวล ปาก ขา สีน้ำตาลแก่
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์เพศผู้
รูปร่างลักษณะ ไก่ประดู่หางดำ เป็นไก่มีลักษณะงดงามทรงรูปปลีกล้วย ไหล่กว้าง ลำตัวยาวล่ำสัน หางยาวเป็นฟ่อนจรดพื้น ปั้นขาใหญ่ แข้งเป็นแข้งคัดออกเหลี่ยม ดูสง่างาม ทะมัดทะแมง น่าเกรงขามยิ่งนัก ตะเกียบ หนา แข็งแรง และชิด ปลายโค้งเข้าหากันเล็กน้อย
ใบหน้า กลมกลึงแบบหน้านกยูง และมีสีแดง
หาง หางพัดสีดำสนิทยาว และเรียงกันเป็นระเบียบจากล่างไปบน สองข้างเท่าๆ กัน มีหางรับข้างละ 2-3 เส้น กระเบนหางใหญ่ ขั้วหางชิด กระปุกน้ำมันใหญ่ เป็นกระปุกเดี่ยว
ปาก ปากใหญ่ ปลายงองุ้มเหมือนปากนกแก้ว ปากบนรับกับปากล่าง หุบสนิทพอดี มีร่องปากทั้ง 2 ข้าง ปากสีน้ำตาลแก่ สีปากจะรับกับสีแข้ง และเดือย
แข้งขา ปั้นขาใหญ่ล่ำสัน แข้งเรียวแบบลำหวาย หรือแข้งคัด
จมูก รูจมูกกว้าง สันจมูกราบเรียบ สีเดียวกับปาก
เกล็ด เกล็ดแข้ง เกล็ดนิ้วสีน้ำตาลรับกับสีปาก เกล็ดแข้งเป็นเกล็ดพัดเรียงเป็นระเบียบ
ตา ขอบตาเป็นรูปวงรี ดวงตาสีไพลแก่ มองเห็นเส้นเลือดแดงในตาชัดเจน ลูกตามีประกายแจ่มใส คิ้วนูนเป็นเส้นขนานโค้งไปตามเบ้าตา
นิ้ว นิ้วยาวกลม ปลายนิ้วเรียวมีท้องปลิงปุ่มตรงข้อนิ้ว เกล็ดนิ้วมีแตก แซมเหน็บเล็บสีน้ำตาลรับกับสีปาก ไม่บิดไม่งอ ปลายเล็กแหลมคมแบบเล็บเหยี่ยว
เหนียง เหนียงรัดกลมกลึงติดกับคาง ไม่หย่อนยาน สีแดงสดใสเหมือนสีของหงอน
เดือย เป็นเดือยแบบขนเม่น เดือยตรงโคนใหญ่ปลายแหลมคมแบบเดือยลูกปืน สีเดียวกับปากและแข้ง
กะโหลก กะโหลกหัวอวบยาว 2 ตอน ส่วนหน้าเล็กกว่าส่วนท้าย มีรอยไขหัวชัดเจนตามธรรมชาติ
ขน ขนพื้นตัวสีดำ ขนสั้นแน่น บริเวณหน้าคอถึงหน้าอกจะมองเห็นหนังสีแดง ขนใต้ปีก ใต้อกแน่น ช่วงท้องเป็นปุย ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง และขนระย้าเป็นขนละเอียด ก้านขนแข็งเล็กเป็นแผงสีประดู่ สยายประบ่าประก้น
คอ คอใหญ่ ยาวโค้งลอนเดียวแบบคองูเห่า กระดูกปล้องคอใหญ่ชิดแน่น ร่องคอชิดกับไหล่ ขนคอขึ้นเป็นระเบียบ สร้อยคอยาวประบ่าต่อกับสร้อยหลัง
กิริยาท่าทาง ไก่ประดู่หางดำเป็นไก่สกุลเดียวกับเหลืองหางขาว เวลายีน เดิน วิ่ง ชน กระพือปีกและขัน จะแสดงอาการหยิ่งผยอง ยืนตรง อกตั้ง ทะมัดทะแมง เดินย่างเท้าแบบสามขุม เหยียบเท้ามั่นคง เวลายืนจะกางปีก และกระพือปีกตลอดเวลา เวลาพบไก่อื่นจะแสดงอาการพร้อมที่จะต่อสู้ทันที โดยไม่สะทกสะท้าน จะเป็นไก่เชิงบน 4 กระบวนท่า คือ กอด ขี่ ทับ เท้าบ่า และหน้าคอ
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์เพศเมีย ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีกสีดำ ยาวถึงก้นเป็นปีกตอนเดียว ขนคอจะมีสีประดู่แซมปลายเล็กน้อย ขนสั้นละเอียด หางยาวดำสนิท ปากมั่นคง มีร่องน้ำ ปาก แข้ง เล็บ ปุ่ม เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพล ถ้าประดู่แสมดำ ปาก แข้ง เล็บ ปุ่มเดือย สีเขียวหยก ตาลายดำ ลักษณะอื่นๆ เหมือนตัวผู้
ไก่ประดู่หางดำ แบ่งตามสายพันธุ์มี 3 สายพันธุ์ คือ 1. ประดู่เมล็ดมะขาม หรือประดู่มะขามคั่ว ขนพื้นตัว ขนปีก ขนหางพัด หางกระรวย สีดำสนิท ไม่มีสีขาว หรือสีอื่นๆ แซม ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยระย้า และขนปิดหูสีประดู่สีเดียวกันทั้งตัวไม่มีสีขนอื่นๆ แซม เช่นกัน ตาสีไพลหรือแดง ปาก เกล็ด แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาลแก่ หน้าสีแดง ถือว่าเป็นเอกเหนือประดู่อย่างอื่นๆ ทั้งสิ้น เป็นประดู่พันธุ์แท้แต่โบราณ พันธุ์ยอดนิยมมี 2 เฉดสี คือ
1.1 สีแก่ เรียก ประดู่มะขามไหม้ หรือประดู่ดำ แบบสีโอ๊คแก่
1.2 สีอ่อน เรียก ประดู่แดง แบบสีโอ๊คอ่อน 2. ประดู่แสมดำ ขนพื้นตัว ขนปีก ขนหางพัด หางกระรวย สีดำสนิทไม่มีสีขาว หรือสีอื่นๆ แซม ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า และขนปิดหูสีประดู่ดำ ตาสีดำ ปาก เกล็ด แข้ง เล็บ เดือย สีดำสนิท หนังสีดำคล้ำๆ มองดูคล้ายไก่ดำของจีน สีทะมึนไม่สดใส เป็นรองประดู่มะขามคั่ว 3. ประดู่แข้งเขียวตาลาย บางคนเรียกประดู่เมืองสิงห์ ขนพื้นตัว ขนปีก ขนหางพัด หางกระรวย สีดำสนิทไม่มีสีขาว หรือสีอื่นๆ แซม ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า และขนปิดหูสีประดู่มะขามคั่ว ตาสีแดงหรือสีไพล มีเส้นตาดำ หรือลายดำ ปาก เกล็ด แข้ง เล็บ เดือย สีเขียวคล้ำแบบสีหยก หนังสีเขียวคล้ายสีแข้ง มองดูคล้ำ ไม่สดใส สันนิษฐานว่าน่าจะกลายพันธุ์มาจากการผสมข้ามพันธุ์ ระหว่างประดู่มะขามไหม้กับประดู่แสมดำ จึงมีลักษณะของทั้งสองพันธุ์อยู่ ประดู่แข้งเขียวตาลายจึงเป็นรองประดู่แสมดำ
ไก่ประดู่หางดำ นอกเหนือจาก 3 สายพันธุ์นี้ถือว่าเป็นประดู่ธรรมดา กลายพันธุ์มาจากการผสมระหว่าง 3 สายพันธุ์นี้ จะเป็นไก่กลายพันธุ์ เลือดไม่บริสุทธิ์ เช่น ประดู่แข้งเขียวเดือยดำ แข้งน้ำตาลเดือยดำ แข้งขาวเดือยดำ แข้งเขียวตาดำ แข้งดำตาลาย แข้งเขียวตาเหลือง เป็นต้น
สรุป ไก่ประดู่หางดำ แต่เดิมเป็นไก่ที่ลักษณะงดงามมาก ชั้นเชิงการชนเป็นไก่เชิงบน 4 กระบวนท่า ตัวผู้รูปร่างสูงตระหง่าน สง่างาม ลำตัวตั้งทอดยาวสองท่อ ใบหน้ากลมกลึง ตาสีไพล ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาลแก่ หรือมะขามไหม้ หรือมะขามคั่ว หางพัดสีดำสนิท ยาวเรียงเป็นระเบียบ หางกระรวยสีดำสนิทรูปใบข้าว ขึ้นดำยาวเป็นฟ่อนรูปพลูจีบ ปลายโค้งลงเล็กน้อย ลักษณะอย่างนี้ถือว่าเป็นไก่พันธุ์แท้แต่โบราณ ต่อมาไม่ได้รักษาพันธุ์ หรืออนุรักษ์ไว้ เลยกลายพันธ์ไป เท่าที่พบเห็นปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังกล่าวข้างต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น