วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ทองแดงหางดำ


ประวัติความเป็นมา ไก่ทองแดง เป็นไก่ไทยพันธุ์แท้แต่โบราณ ทราบได้สมัยอยุธยา ตอนฉลองกรุงหงสาวดี จัดให้มีการชนไก่หน้าพระที่นั่งพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้งยังทรงพำนักอยู่หงสาวดี ได้มีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระเอกาทศรถ นำไก่ชนไทยไปร่วมชนในงานฉลองกรุงหงสาวดีครั้งนั้นด้วย ไก่ทองแดงหางดำได้ไปสร้างชื่อเสียงเอาชนะไก่พม่าได้อย่างง่ายดาย (จากนิยายประวัติศาสตร์ยุพราชดำโดยจอมราชันย์)
แหล่งกำเนิด ไก่ทองแดงหางดำมีแหล่งกำเนิดอยู่ทั่วๆ ไป ไก่ดังในอดีตพบที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ชลบุรี เป็นต้น ประเภท ไก่ทองแดงหางดำ เป็นไก่ขนาดกลาง น้ำหนักโดยเฉลี่ย เพศผู้ประมาณ 3.00 – 3.50 กิโลกรัม เพศเมียประมาณ 2.00 กิโลกรัมขึ้นไป สีของเปลือกไข่ เปลือกไข่สีน้ำตาลอมแดง ลักษณะลูกไก่ ขนสีแดงทั้งตัวเหมือนไก่โร๊ดไอแลนด์แดง ปาก แข้ง เล็บ เดือยสีแดงอ่อน ตาสีแดงอ่อน
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์เพศผู้
รูปร่างลักษณะ ไก่ทองแดงหางดำมีรูปร่างทะมัดทะแมง ทรงหัวปลีกล้วย ช่วงไหล่กว้าง อกเป็นมัดมีกล้ามเนื้อ ลำตัวยาวจับกลม 2 ท่อนไหล่หน้าใหญ่บั้นท้ายโตปั้นขาใหญ่แข็งแรง หางดกยาวเป็นฟ่อนข้าวหรือแบบหางม้า
ปีก ใหญ่ และยาว ขนปีกเรียบเป็นระเบียบ ไม่มีช่องโหว่ ขนไชปีกจะมีสีดำ แน่น ขนปีกในสีแดงเหมือนขนพื้นตัว
ใบหน้า แหลมกลมอูมแบบหน้านกยูง
ตะเกียบ หนา แข็งแรง ตรง ปลายชิดกัน
ปาก ปากใหญ่ ปลายปากงองุ้มเล็กน้อย ปากมีร่องน้ำทั้ง 2 ข้าง ปากสีเหลืองอมแดง
หาง หางพัด ปลายมนกลม สีดำ ยาวไม่ต่ำกว่า 1 คืบ หางกระรวยเส้นเล็กกว่าหางพัด ปลายแหลมยาวไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต หางกระรวยเป็นฟ่อนข้าวหรือแบบหางม้า กระเบนหางใหญ่ชิดกับกระดูกสันหลัง กระปุกน้ำมันใหญ่เป็นกระปุกเดี่ยว
จมูก จมูกแบนราบสีเดียวกับ ปาก รูจมูกกว้าง
แข้งขา ปั้นขาใหญ่ล่ำสัน มีขนสีแดงขึ้นเต็มข้อขา แข้งมีสีเหลืองอมแดงแข้งกลมแบบลำหวายหรือลำเทียน
ตา ขอบตาเป็นรูปวงรี มีขอบตา 2 ชั้น ดวงตาสีแดง มีประกายแจ่มใส คิ้วขอบตานูนรับกับตา
เกล็ด เกล็ดเป็นเกล็ดพัดใหญ่ๆ เรียงเป็นระเบียบ 2-3 แถว สีเดียวกับแข้ง มักมีเกล็ดสำคัญ เช่น เสือซ่อนเล็บ เหน็บใน ไชบาดาล ผลาญศัตรูหรือเกล็ดอื่นๆ ในไก่ตัวดีๆ
หงอน หงอนเป็นหงอนหิน 3 แฉก ผิวหงอนเรียบสีแดงสดใส
นิ้ว นิ้วยาวกลมเรียว เล็บและเกล็ดสีเดียวกับแข้ง มักมีเกล็ดนิ้วแตก เป็นเกล็ดพิฆาต เล็บเรียวแหลม
หู ตุ้มหู ตุ้มหูรัดติดกับหูมีสีแดงเหมือนหงอน รูหูมีขนสีแดงปิด
เดือย เป็นเดือยแบบขนเม่นหรืองาช้าง สีเดียวกับแข้งและเกล็ด
เหนียง รัดกลมกลึงติดกับคาง บางตัวอาจมีเหนียงแลบออกมาเล็กน้อย สีแดงสดใสแบบหงอนและตุ้มห ู
ขน ขนพื้นตัวตั้งแต่บริเวณหน้าคอ หน้าอก ใต้ปีก ใต้ท้อง จะมีสีแดง ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ขนปิดหู จะมีสีแดงเป็นมัน ขนไชปีก ขนหางพัด หางกระรวยสีดำ
กระโหลก กะโหลกใหญ่และยาวเป็น 2 ตอน ส่วนหน้าเล็กหว่าส่วนท้าย มีรอยไขหัวชัดเจนตามธรรมชาติ
กริยาท่าทาง ไก่ทองแดงหางดำเป็นไก่ที่มีกิริยาท่าทางอย่างองอาจทะมัดทะแมงแบบไก่ประดู่หางดำ จะยืน เดิน วิ่งชน ดูคล่องแคล่ว แข็งแรง จะยืนกระพือปีกตลอดเวลา เมื่อพบไก่อื่นจะแสดงอาการต่อสู้เสมอ ไก่ทองแดงหางดำ เป็นไก่ชนเชิงหลัก มัดตั้ง กอด คุม ตีบน ตีเท้า บ่าเป็นส่วนใหญ่
คอ คอใหญ่ยาวโค้งไปข้างหน้าแบบคอม้า กระดูกปล้องคอชิดแน่น ขนคอขึ้นเป็นระเบียบสีเดียวกับขนหลัง สร้อยคอยาวประบ่า
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์เพศเมีย
1. ขนพื้นตัวด้านล่าง หน้าคอ หน้าอก ใต้ปีก ใต้ท้อง ก้น สีแดง
2. ขนคอ ขนหลัง ขนปีก สีแดง แก่กว่าขนพื้นเล็กน้อย
3. ขนสร้อยคอ จะมีสีแดงขลิบแลบออกมาเล็กน้อยตามเฉดสีแต่ละชนิด ขนปิดหูสีแดง
4. ขนไซปีก ขนหางพัดสีดำ ขนทับหางสีแดง
5. ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง จะเข้ม หรือ อ่อนตามเฉดสีพันธุ์ ตาสีแดง
6. ไก่ทองแดงเพศเมียจะเป็นไก่ทรงปลีกล้วย ไหล่หน้าจะใหญ่ ท้ายจะมนกลม กระรวยหางจะรัดและยาวแบบตัวผู้
สายพันธุ์ไก่ทองแดงหางดำ แบ่งตามเฉดสีได้ 4 ชนิด คือ 1.ไก่ทองแดงใหญ่ ขนพื้นตัว และขนสร้อยจะสีแดงเข้มอมดำ ปาก แข้ง เล็บ เดือยสีเหลืองอมแดงอมดำ ตาแดง ไก่ทองแดงใหญ่บางแห่งเรียกไก่ทับทิม 2.ไก่ทองแดงตะเภาทอง ขนพื้นตัว และขนสร้อยจะสีออกเหลืองส้มแบบไก่ตะเภา หรือสีแบบสีทองคำ ปาก แข้ง เล็บ เดือย จะมีสีเหลืองอมแดง ตาแดงอมเหลือง 3.ไก่ทองแดงแข้งเขียวตาลาย ขนพื้นตัว ขนสร้อยจะสีเข้มอมดำคล้ายๆ แดงใหญ่ แต่ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเขียวอมดำ ตาลาย แดงดำ 4.ไก่ทองแดงอ่อนหรือสีปูนแห้ง ขนพื้นตัว ขนสร้อยจะสีแดงซีดๆ แดงอ่อนๆ ปาก แข้ง เล็บ เดือยสีขาวอมแดงเหมือนกับตะเภาทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น